ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพง!?

ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพง

“น้ำมัน” ถือเป็นต้นทุนแฝงที่มาในสินค้าตามท้องตลาดเกือบทุกชนิด ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ย่อมส่งผลต่อสินค้าอื่น ๆ ให้ปรับราคาขึ้นตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นการทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของราคาน้ำมันจึงเป็นเรื่องจำเป็น กว่าจะมาเป็นราคาหน้าปั้มให้เราเติมมันผ่านอะไรมาบ้าง โครงสร้างราคาน้ำมันมีกี่ส่วน แล้วอย่างคำถามที่ว่าทำไมมาเลเซียได้ใช้น้ำมันถูกกว่าบ้านเราทั้ง ๆ  ที่เราก็มีบ่อน้ำมันเหมือนกัน คำตอบของทุกคำถามวันนี้เราจะพาไปไขคำตอบกัน

เราลองมาดูกันก่อนว่าเมื่อเติมน้ำมันดีเซล 1 ลิตร เงินที่เราจ่ายไปกับการเติมน้ำมันนั้น ถูกแบ่งเป็นค่าอะไรแฝงอยู่บ้าง เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงโครงสร้างของราคาว่ามันเป็นอย่างไร *อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน วันที่ 7 กรกฎาคม 2565*

หลักๆนั้นราคาน้ำมันประกอบด้วย 4 ส่วนดังนี้

1.ราคาหน้าโรงกลั่น 35.32 บาท คิดเป็นร้อยละ 40 – 60 ของราคาขายปลีกน้ำมัน โดยราคานี้อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ที่เป็นตลาดอ้างอิงในภูมิภาคนี้

2.ภาษีต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 30 – 40 ของราคาขายปลีกน้ำมัน แบ่งออกเป็น

– ภาษีสรรพสามิต 1.34 บาท

– ภาษีเทศบาล 0.13 บาท

– ภาษี VAT 2.06 บาท

  1. กองทุนต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 5 – 20 ของราคาขายปลีกน้ำมัน แบ่งออกเป็น

– กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -7.24 บาท *ปัจจุบันกองทุนน้ำมันอุดหนุนอยู่*

– กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน 0.005 บาท

  1. ค่าการตลาด 3.08 บาท คิดเป็นร้อยละ 10 – 18 ของราคาขายปลีกน้ำมัน

อันนี้ขอแทรกไว้เป็นข้อมูลสักนิดหน่อย เผื่อมีใครอยากจะทราบว่าปัจจุบัน เราคนไทยใช้น้ำมันกันวันละเท่าไหร่เพื่อที่จะเป็นข้อมูลประกอบในการทำความเข้าใจกับปัญหาราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ในเบื้องต้นก่อน โดยเราคัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซล ดังนี้ 1.น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 61.84 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 68.4% 2.น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 28.59 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 31.6%

แล้วสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมมาเลเซียได้ใช้น้ำมันถูกกว่าบ้านเราทั้ง ๆ  ที่เราก็มีบ่อน้ำมันเหมือนกัน บอกก่อนเลยว่าไม่ใช่แค่เฉพาะมาเลเซียเท่านั้นที่ใช้น้ำมันถูก ยังมีบรูไนอีกชาติที่น้ำมันถูก แล้วทำไมถูกกว่า? ต้องบอกก่อนว่าทั้งสองประเทศนี้คือผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เลยทำให้รัฐบาลเขามีรายได้สามารถนำไปอุดหนุนให้น้ำมันถูก

แล้วถ้าหากเทียบกับประเทศเราแม้จะมีบ่อน้ำมันเหมือนกัน แต่จำนวนการบริโภคน้ำมันในประเทศกับน้ำมันที่เราผลิตได้มันไม่เพียงพอทำให้ประเทศเราต้องนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน

หากวิกฤตครั้งนี้ยังรุนแรงและยืดเยื้อต่อไป ก็ล้วนส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศด้วยกันทั้งสิ้น การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่ จะต้องแก้ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและข้าราชการที่กินเงินภาษีทุกท่านในการที่จะต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้ต้องจุดและทันเวลา เพราะอย่างที่รู้ดีว่าปัญหาปากท้องมันรอไม่ได้

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn