Facebook เอาจริงแล้ว ตรวจเข้มคุณภาพของคอนเทนต์ข่าวหน้าฟีด

         หลังจากที่ Facebook ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งในเรื่องของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การคัดกรอง และยังโดนหนักเรื่อง Fake News ล่าสุด Facebook ก็ได้ออกมายืดอกอย่างผ่าเผย พร้อมประกาศอัปเดตอัลกิรึทึมสำหรับฟีดข่าวใหม่ ที่จะเน้นให้เผยแพร่ข่าวจากเว็บไซต์ข่าวต้นฉบับที่มีการลงทะเบียนกับ Facebook เพื่อป้องกันข่าวปลอม

         สาเหตุเริ่มมาจากเริ่มมีผู้ใช้งานติดตามข่าวผ่านFacebook มากขึ้น ซึ่งองค์กรชื่อ Pew Research ได้สำรวจพฤตกรรมการตามข่าวบน Facebook ในอเมริกา พบว่า 68% อ่านข่าวจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยที่มี Facebook เป็นแหล่งข้อมูลหลัก นอกจากนั้นยังเข้าถึงข่าวในระดับท้องถิ่นได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะ Facebook มีการเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

         ด้วยเหตุนี้เอง หน้าฟีดของ Facebook จึงเต็มไปด้วยข่าวไหลผ่านตลอดเวลา
         แต่เมื่อลองถามผู้ใช้งาน Facebook เรื่องการติดตามข่าวลึกขึ้น ก็พบว่า ส่วนใหญ่มักจะหลงกลติดกับ Fake news หรือข่าวที่ยังไม่ได้มีการคัดกรอง ทำให้เกิดอาการหงายเงิบในภายหลัง ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ต้องการให้ Facebook จัดอันดับข่าวที่มีความสำคัญและคัดกรองข่าวที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ บนฟีดข่าว

        ในทางปฏิบัติแล้วหมายความว่าอะไร?

         ลงลึกเข้าไปในเรื่องของอัลกอริทึม ก็หมายความว่า Facebook จำเป็นต้องอัปเดตอัลกอริทึมใหม่ โดยที่เริ่มแยกประเภทข่าวจากแหล่งที่มา 2 ประเภท นั่นคือ ‘Original reporting ข่าวแบบเดิมจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ’ กับ ‘Transparent authorship การตรวจสอบแบบโปร่งใส’ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ใช้งาน Facebook ส่วนใหญ่ มักติดตามข่าวจากการที่เห็นเพื่อนแชร์ต่อกันมา ซึ่งแน่นอนว่า Facebook ไม่สามารถเข้าไปละเมิดการกดแชร์ของผู้ใช้งานได้ เพราะบางที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็ชอบแชร์ข่าวที่ผ่านการวิเคราะห์จากผู้ใช้งานทั่วไปมากกว่าสำนักข่าว ดังนั้นอัลกอริทึมใหม่ของ Facebook จะเพิ่มการกรองข่าวต้นฉบับมากขึ้น และจะเพิ่มอัลกอริทึมที่สามารถติดตามได้ว่า ข่าวนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ไหน โดยใคร เพื่อลดการแชร์ข่าวปลอม

         อัลกอริทึมแบบ Original reporting จะแสดงผลในกรณีที่ สมมติว่าเพื่อนใน Facebook ของเรา มีการแชร์ข่าวในหัวข้อเดียวกันจากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากการวิเคราะห์ของผู้ใช้งานทั่วไป และจากโพสต้นฉบับ อัลกอริทึมของ Facebook จะเลือกจัดอันดับข่าวที่มาจากโพสต้นฉบับที่ทำการเผยแพร่ครั้งแรกก่อน แม้ว่าเพื่อนส่วนใหญ่จะแชร์ต่อกันมาจากผู้ใช้งานทั่วไปก็ตาม

         แต่สำหรับ Transparent authorship การตรวจสอบแบบโปร่งใส คืออัลกอริทึมที่จะช่วยลดความสำคัญของเนื้อหาข่าวที่ไม่มีที่มาชัดเจน หรือไม่มีข้อมูลว่าเป็นเพจเกี่ยวกับสำนักข่าว รวมไปถึงไม่มีข้อมูลเรื่องของบรรณาธิการหรือพนักงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเว็บไซต์ที่เน้น Clickbait ที่ผลิตข่าวปลอมอยู่แล้ว และถือเป็นคอนเทนต์ด้อยคุณภาพที่ไม่ควรมีอยู่บน Facebook

         อย่างไรก็ตาม Facebook ให้ความสำคัญกับข่าวมากขึ้น โดยเริ่มออกแบบอัลกอริทึมที่สนับสนุนแหล่งข่าวท้องถิ่นและแหล่งข่าวรายย่อย ทั้งการสตรีมสด หรือตัวเลือกโฆษณาแบบต่างๆ ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถสร้างรายได้และเกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆได้

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn